วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ส่งงาน 5

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระแก้วมรกต วัดสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์

     วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗
     เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

     รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
     เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลปไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป
พระอุโบสถ
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังคาลด ๔ ระดับ ๓ ซ้อน มีช่อฟ้า ๓ ชั้น ปิดทองประดับกระจก ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคาเป็นพาไลคลุม รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจกทั้งต้น พนักระเบียงรับเสานางราย ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีอย่างจีน ตัวพระอุโบสถมีฐานปัทม์รับอีกชั้นหนึ่ง ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่ ๑ เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง รัชกาลที่ ๓ โปรดเล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป ปิดทองประดับกระจก บานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกทั้งหมด ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เชิงบันไดมีสิงห์หล่อด้วยสำริดบันไดละคู่ รวม ๑๒ ตัว โดยได้แบบมาจากเขมรคู่หนึ่ง แล้วหล่อเพิ่มอีก ๑๐ ตัว
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

     ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)
พระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซม. สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ ซม. ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน
     เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา ประดับมณีต่างๆ จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร
     เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่ พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่ง ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์พระ
     บุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น บนฐานชุกชีด้านหน้า ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยไม่มีเมฬี มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป
     หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ องค์ด้านเหนือพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ด้านใต้พระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิ์หุ้มทองคำ เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี

หนังสืออ้างอิง : นำชมกรุงรัตนโกสินทร์
(เนื่องในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) โดย กองโบราณคดี กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๕







ส่งงาน4 เรื่อง ปัญญาหาวัยรุ่น

ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น
Adolescent Problems

นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 
          วัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดวัยหนึ่ง  ซึ่งแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมได้หลายประการ เช่น  ดื้อ  ไม่เชื่อฟัง  ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ  มีแฟนและมีเพศสัมพันธุ์  ใช้ยาเสพติด  ทำผิดกฎหมาย  ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานาน จนทำให้การแก้ไขมักทำได้ยาก  การป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็น  และสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว  การป้องกันดังกล่าว  ควรเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่เด็ก  เด็กที่มีพัฒนาการของบุคลิกภาพดี   จะมีภูมิต้านทานโรคทางจิตเวชต่างๆ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อย่างมากเช่นกัน  พ่อแม่และครูอาจารย์และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหลาย  จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งเด็กจนถึงวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเช่นเดียวกัน 

สุขภาพจิตหมายถึงอะไร

   "สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมี สัมพันธภาพ  และรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย"
ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต 

    สุขภาพจิตที่ดี เกิดจากร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง  ความสามารถทางจิตใจที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์  สภาพครอบครัวที่อบอุ่นและสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี

สุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างไร

          คนที่มีสุขภาพจิตดี  จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพที่มี   ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง  และต่อผู้อื่น  ไม่เกิดอาการทางจิตเวช  หรือโรคทางจิตเวชได้ง่าย  ถึงแม้ชีวิตจะเผชิญปัญหามาก  ก็สามารถแก้ไขผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 

          คนที่สุขภาพจิตไม่ดี  มักมีปัญหาในการปรับตัว  มีอาการทางจิตเวช  เช่น  ความเครียด  ซึมเศร้า  แม้ว่าจะเจอปัญหาเล็กๆ  ก็ปรับตัวได้ลำบาก   มีปัญหาพฤติกรรมได้บ่อย  มักเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชได้ง่าย  และฟื้นตัวไม่ได้ดี

ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อย

·        ไม่เรียนหนังสือ
·        ติดเกมส์
·        ติดการพนัน
·        การเรียน  การปรับตัว
·        ปัญหาทางเพศ  สาเหตุ
·        การใช้และติดยาเสพติด
·        พฤติกรรมผิดปกติ Conduct  disorder
·        โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
·        บุคลิกภาพผิดปกติ
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น
·        ร่างกาย  การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี  สารสื่อนำประสาท  โรคทางกาย โรคระบบประสาท   สารพิษ 
·        จิตใจ  บุคลิกภาพ  ความคิด  การมองโลก  การปรับตัว 
·        สังคม  การเลี้ยงดู  ปัญหาของพ่อแม่  ตัวอย่างของสังคม  สื่อต่างๆ

 

จุดเน้นของการพัฒนาวัยรุ่นไทย เพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรม

 

เป้าหมายของการพัฒนา  มุ่งสู่  อีคิว

ให้มีพัฒนาการทุกด้าน  ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต  มีทั้งเก่ง  ดี และ มีสุข
การเรียน  เน้นให้ เรียนรู้ด้วยตัวเอง  คิดเอง
          วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง  อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง  ความรู้ทางวิชาการนับวันจะมีมากขึ้น  ครูไม่สามรถสอนความรู้ให้หมดได้อีกต่อไป  ในอนาคต  การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก  รวมถึงการรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลข่าวสาร  ให้ได้สิ่งที่ถูกต้อง
หาเอกลักษณ์ส่วนตน
          เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น  เด็กจะเริ่มเข้าใจตนเอง  รู้จักตนเองมากขึ้นว่า  เป็นคนอย่างไร  มีความชอบความถนัดอะไรบ้าง  มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร  อยากเรียนไปทางไหน  อยากทำอาชีพใด  รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศด้วย  
การทำงานร่วมกัน 
ส่งเสริมให้มีทักษะในการทำงานร่วมกัน  มีความสามัคคี  มีทักษะในการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี   ระเบียบวินัยส่วนตัว  และของกลุ่ม  มีการสื่อสารเจรจาที่มีประสิทธิภาพ
แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
          พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักการคิดและทำด้วยตนเอง  มีความพอใจ  และภูมิใจกับการทำงาน  มีความสนุกกับงาน  มองเห็นงานเป็นเรื่องท้าทายความสมารถ  ไม่ท้อแท้  สู้งาน  เพลิดเพลินได้กับงาน  และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่เสมอ
วงจรความสุขของชีวิต
          เด็กทุกคนควรมีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข และสนุกกับการดำเนินชีวิต  ด้วยงานหรือกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจ  มักจะเป็นเรื่องที่ตนเองชอบหรือมีความถนัด  สามารถทำได้ดี  ประสบผลสำเร็จ  เมื่อทำแล้วเกิดความสุข  เกิดแรงจูงใจที่จะทำอีก  เด็กที่มีวงจรความสุข  มักจะไม่เข้าหายาเสพติด  หรือมีเพศสัมพันธ์

การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น  ทำได้อย่างไร

          การส่งเสริมสุขภาพจิตวัยรุ่น  ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก  ให้มีการพัฒนาเด็กทุกด้านไปพร้อมๆกัน  ทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  และสังคม  

ใครจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น 

          เด็กได้รับอิทธิพลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด  เริ่มต้นจากพ่อแม่  พี่น้อง ญาติใกล้ชิด  เพื่อน  เพื่อนบ้าน  เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็ได้รับอิทธิพลจากครูและเพื่อนนักเรียน  รุ่นพี่รุ่นน้อง  และจากสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก  การส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงต้องการความร่วมมือกันของหลายฝ่าย  เริ่มต้นจากที่บ้าน  สานต่อที่โรงเรียน  และสังคมรอบๆตัวเด็กนั่นเอง  ทุกคนควรมีส่วนร่วมกันเสมอในการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี  ที่ถูกต้อง  มิใช่ช่วยแต่ลูกหลานของตนเอง  แต่ช่วยลูกหลานคนอื่นด้วยเมื่อมีโอกาส  เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน 
          ตัวอย่างของการช่วยกันส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กที่ดี  คือช่วยกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเด็ก  มีความปลอดภัย  เมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เด็กมีความลำบากเดือดร้อน  ควรหาทางช่วยเหลือ  แก้ไข  ช่วยกันปกป้องเด็กไม่ให้ได้รับอบายมุข  ยาเสพติด  การกระตุ้น ยั่วยุทางเพศ  เป็นต้น

บทบาทของพ่อแม่ ควรจะเป็นอย่างไร

บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กเป็นบทบาทหลัก   และเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการเด็ก   หลักสำคัญคือความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่ ครอบครัวมีความรักความอบอุ่น  มีความสุข มั่นคง
นอกจากนี้  สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น  คือ 
1 สร้างความสำพันธ์ที่ดี กับเด็ก มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันต่อเนื่องสม่ำเสมอ  และยาวนานพอ
·        พ่อแม่ควรรู้เขา รู้เรา  เข้าใจความคิดความรู้สึกของลูก  คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่า  ลูกน่าจะคิดอย่างไร  รู้สึกอย่างไร  น่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา  รู้จุดเด่น จุดอ่อน ของลูก
·        รับฟังได้มากขึ้น  เกิดการยอมรับกัน  ประนีประนอมกัน 
·        สร้างขอบเขตที่เหมาะสมได้ง่าย  เคารพในกติกาที่ช่วยกันสร้างขึ้น
·        ส่งเสริม  ชี้แนะ  แนะนำ  ตักเตือน
·        ยืนยันในเรื่องที่ วิกฤต  เท่าที่จำเป็น ไม่ควรมีมากนัก 

2. ให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดี  พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก  การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ  หรือเงิน  อาจให้คำชม  การชื่นชม  ก็เพียงพอสำหรับเด็ก

3. เอาจริงกับสิ่งที่ตกลงกันไว้  ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง  ต้องมีวิธีการเตือนที่ได้ผล  พ่อแม่ควรทบทวนดูเสมอว่า  วิธีการเตือนแบบใดที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกใช้   การเตือนที่ได้ผลมักจะเกิดจากการตกลงกันไว้ล่วงหน้า  และเมื่อเตือนแล้วกำกับให้เกิดผลอย่างจริงจัง ทันที  เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่เอาจริงกับสิ่งที่พูด  และตกลงกันล่วงหน้า  เมื่อมีการตกลงกันในเรื่องใดๆอีก  เด็กก็จะตั้งใจทำตาม
วิธีที่ไม่ได้ผล
                o       การพูดย้ำซ้ำๆ  แล้วเด็กไม่ได้ปฏิบัติ

o       การบ่นมากๆ

o       การเปรียบเทียบกับเด็กอื่นๆ

o       การข่มขู่(แล้วไม่ได้ทำตามนั้น)

o       การปรามาส  ดูถูกให้ได้อายโดยหวังว่าจะฮึดสู้  มีมานะ และแก้ไขตนเองได้

o       การลงโทษรุนแรง  ด้วยกำลังเช่นการตี  ตบ  เตะต่อย  ผลักไส  หรือด้วยวาจา  เช่น  ด่าว่า เปรียบเทียบเป็นสัตว์ที่ด้อยปัญญา  ด่ากระทบไปถึงคนอื่น  เช่น  พ่อมันไม่ดี  แม่มันไม่สั่งสอน  เชื้อสายมันเลว

o       ตัดความสำพันธ์  ไม่พูดด้วย  ไม่สนใจ  ไม่ดูแล  ไม่ส่งเสริม  โดยหวังว่าจะสำนึกและมาขอโทษ 


วิธีที่น่าจะทำ
·        เอาจริงทันที  โดยเฉพาะตอนเริ่มต้นสร้างกติกากันใหม่ๆ  ต้องคอยสังเกต ติดตาม  ถ้าทำได้อย่าลืมชื่นชม  ถ้าทำไม่ได้  ควรมองในแง่ดีว่า เขาอาจลืม  ยังไม่สม่ำเสมอจนจะทำได้เป็นอัตโนมัติ  ซึ่งจะต้องทำซ้ำๆต่อเนื่องกันนั้นนานพอ  (ประมาณ 3  สัปดาห์)  ในเด็กสมาธิสั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้  และในกรณีที่เป็นการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเก่าที่ทำติดตัวมานานแล้ว  อาจต้องใช้เวลามากขึ้น
·        หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทันที
·        ทบทวนว่าเคยมีการพูดคุยกันล่วงหน้าก่อนหรือไม่  เช่น  ถ้าเล่นเกมเลยเวลาที่ตกลงกันไว้  จะมีการจัดการอย่างไร  ถ้ามีอยู่แล้ว  ให้จัดการตามนั้นอย่างจริงจัง แต่นุ่มนวล  เน้นเรื่องของการตกลง  ทำอย่างไรได้ผลอย่างนั้น  ถ้าไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก  ควรทำอย่างไร  คาดหวังว่า  ครั้งต่อไปเขาจะควบคุมตัวเองได้
·        รับฟังความคิดเห็น  คำโวยวายได้สั้นๆ  จับประเด็นที่ไม่พอใจ  สะท้อนความคิด  ความรู้สึกของเขาสั้นๆ 
·        ไม่มีการต่อรอง  เจรจา  ผัดผ่อน  การดำเนินการควรทำทันที  และเป็นไปให้สอดคล้องกับการตกลงกันไว้ล่วงหน้า
·        ถ้าไม่มีการตกลงกันล่วงหน้า  ให้ใช้  กฎมาตรฐาน  เช่น  ไม่ละเมิดผู้อื่น  ไม่ละเมิดตนเอง  ไม่ทำให้ของเสียหาย หรือฟุ่มเฟือยเกินเหตุ  และตั้งเป็นกติกามาตรฐานไว้เลย  เด็กจะต้องการหลักยึดที่ชัดเจน  และบางครั้งอาจต้องลงรายละเอียดให้เห็นเป็นรูปธรรม  เช่น
-อย่านอนดึก  ควรเปลี่ยนเป็น  เวลานอนที่กำหนด  คือ สี่ทุ่ม
-ต้องอ่านหนังสือเรียน   ควรเปลี่ยนเป็น  เวลาอ่านหนังสือ  คือ  สามทุ่ม ถึงสี่ทุ่ม

          มีการกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติในระยะแรกให้ชัดเจน  เช่น  กฎข้อนี้เราจะทดลองทำร่วมกันประมาณ  2  สัปดาห์  หลังจากนั้นจะมีการมาทบทวนกันใหม่  เป็นการเปิดช่องทางให้มีการเจรจา  เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยพ่อแม่ไม่เสียหน้า และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ทำได้ง่ายขึ้น  เปิดช่องให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น  ไม่รู้สึกเป็นการบังคับกันเกินไป  และได้การเรียนรู้ว่า  เมื่อตกลงกันแล้ว  ต้องทำ  ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยังมีโอกาสทำได้อยู่  แต่ต้องมาตกลงกันก่อน  เป็นการเปิดช่องทางการ เจรจา”  เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมแล้วจะมีแรงจูงใจให้เขาทำตามนั้นมากขึ้น  การให้เด็กสร้างกติกากับตนเอง  เป็นการฝึกให้เขาเป็นตัวของตัวเอง  แต่มีระเบียบวินัยจากภายใน (self control)  ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเขาต่อไป  พ่อแม่จะเหนื่อยน้อยลงที่จะไม่ต้องไปสร้างระเบียบวินัยจากภายนอก (external control  or social rules) 
          เมื่อมีการลงโทษ  ควรสรุปสั้นๆก่อนการลงโทษ  ว่าเกิดอะไรขึ้น  เหตุใดจึงมีการลงโทษ  ชื่นชมเด็กที่รู้จักสำนึกได้  หรือเปิดเผยไม่โกหกปิดบัง  ชวนให้เด็กคิดว่า  ถ้าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก  ควรจะทำอย่างไร  จะป้องกันได้อย่างไร  และคาดหวังในทางที่ดีว่า  เขาน่าจะทำได้  เราจะคอยดู  และชื่นชมเขาในโอกาสต่อไป
          ถ้าเด็กไม่คิดไม่เรียนรู้ ไม่สำนึกในระยะแรก  ให้คุยใหม่หลังจากพ้นโทษทันที  หรือในระยะเวลาต่อมาที่ไม่นานเกินไป  ชวนคุยให้เด็กทบทวนตนเองว่า  เกิดอะไรขึ้น  รู้สึกอย่างไร  อยากป้องกันไม่ให้เกิดอีกอย่างไรดี  กระตุ้นให้คิด  และชมความคิดที่ดีของเขา  เป็นการฝึกให้เด็กคิด ทบทวนตนเอง  และวางแผนเกี่ยวกับตนเอง  ที่สำคัญคือ  นำมาใช้กับชีวิตตนเองได้มากขึ้น  โดยไม่ต้องให้มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คอยบอกคอยเตือน  คอยบังคับให้ทำโน่นทำนี่อีกต่อไป      

4  เปิดโอกาสให้ได้รับการชื่นชม  สร้างกิจกรรมที่เด็กจะได้แสดงออกอย่างภาคภูมิใจตนเอง  ตามความชอบความถนัด

5 หาพฤติกรรมทดแทน  มาแทนที่พฤติกรรมที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

6  พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี  มีระเบียบวินัย  จัดการกับชีวิตอย่างเหมาะสม  มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

7  ส่งเสริมพฤติกรรมและการเรียนรู้ให้ครบทุกด้าน  ทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  สังคม  สังเกตจุดอ่อน  และสร้างทักษะใหม่ที่จะเอาชนะจุดอ่อนเท่าที่จะเป็นไปได้  ส่งเสริมจุดเด่นให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  เอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง 

8  ช่วยให้เด็กหาเอกลักษณ์ของตนเองได้  สังเกตจาก  ความชอบ ความถนัด  ผลการเรียน  กิจกรรม ที่ชอบ  และทำได้ด้วยตัวเอง   ความพอใจ  แนวคิด  ความเชื่อ  กลุ่มเพื่อน  วิชาชีพที่อยากเรียน  อาชีพที่ต้องการ  รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศ  สนับสนุนให้เป็นไปตามเอกลักษณ์  แต่ให้ได้การเรียนรู้ในพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย
          เด็กทุกคนควรมี  วงจรชีวิตที่สร้างความสุข (pleasure circuit)  เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างถูกต้อง  ในเวลาว่าง  หรือในเวลาที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น  แม้ว่าจะขาดโอกาส  ขาดเงิน   อยู่คนเดียว  มีความทุกข์  มีเหตุการณ์บีบคั้น
          ตัวอย่างของวงจรความสุขที่ดี
การอ่าน   การเขียน
ศิลปะ  วาดรูป  ระบายสี  แกะสลัก  เซรามิกส์  ดนตรี  กวี
การท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้  และสร้างสรรค์  ทัศนศึกษา
การเล่นกีฬา   แอโรบิก  กีฬาทักษะฝีมือ  กีฬาสร้างความพร้อม(การต่อสู้ป้องกันตัว)  กีฬาเอาตัวรอด(ว่ายน้ำ วิ่ง  ปีนป่าย)
เกม   หมากกระดาน 

9  สนับสนุนกลุ่มเพื่อนที่ดี  ช่วยแก้ไขกลุ่มที่มีความเสี่ยง  รักลูก ให้รักเพื่อนของลูกด้วย  เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากกันเอง  ภายใต้การดูแล เงียบๆ  หัดให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เพื่อนให้เป็น

10  ฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการกับความเสี่ยง  (risk management) 
          วิเคราะห์ความเสี่ยง  ประเมินความเสี่ยง  โอกาสอันตราย  คิดล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในด้านลบ
          หาสาเหตุของความเสี่ยง  และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ  อย่างถี่ถ้วน
          หาวิธีป้องกันความเสี่ยง   การลดความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ  หรือการแก้ไขปัญหา  ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น  มีช่องทางออก  ทางหนีทีไล่อย่างไร  วิเคราะห์โอกาสต่างๆ  ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก

บทบาทของครู  ควรจะทำอย่างไร

          ครูควรมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาการต่อจากพ่อแม่  ด้วยการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้านเช่นกัน  โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสังคม  และจริยธรรม   ใช้หลักพฤติกรรมบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก  และถ้าจำเป็นต้องลงโทษ  ควรมีหลักการลงโทษที่ดี  ได้ผล  และไม่เกิดผลเสียตามมา   เมื่อเด็กเริ่มมีปัญหา  ครูควรมีมาตรการจัดการให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว   โรงเรียนควรมีระบบการให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างชัดเจน  มีการประสานงานกับแหล่งทรัพยากรที่จะให้ความช่วยเหลือได้  เช่นทีมงานสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้เคียง  เป็นต้น 
แนวทางการแก้ไข/ช่วยเหลือเมื่อเด็กเริ่มมีปัญหา
  1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  2. รับฟังปัญหาเด็กเสมอ  ไม่ตำหนิ  หรือสั่งสอนเร็วเกินไป  ท่าทีเป็นกลาง
  3. เข้าใจปัญหา  หาข้อมูลเพื่อให้รู้สาเหตุ  และแนวทางการแก้ไขปัญหา
  4. มองเด็กในแง่ดี  มีความหวังในการแก้ปัญหาเสมอ
  5. กระตุ้นให้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง  มีทางเลือกหลายๆทาง  วิเคราะห์ทางเลือกร่วมกัน
  6. ชี้แนะทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่เด็กคิดไม่ออกด้วยตัวเอง
  7. เป็นแบบอย่างที่ดี 
  8. ใช้กิจกรรมช่วย  กีฬา  ดนตรี  ศิลปะ  กิจกรรมกลุ่ม
  9. ให้เพื่อนช่วยเพื่อน  อธิบายให้เพื่อนเข้าใจกัน  ยอมรับและอยากช่วยเหลือกัน  ไม่ตัวใครตัวมัน
  10. ชมเชยเมื่อทำได้ดี
  11. เมื่อทำผิด  มีวิธีตักเตือน  ชักจูงให้อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
  12. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม 
  13. ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  แก้ไขปัญหาครอบครัว

เอกสารอ้างอิง

1.  กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข  คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน  โรงพิมพ์ ร.ส.พ. กรุงเทพฯ
2.  พนม  เกตุมาน  สุขใจกับลูกวัยรุ่น  บริษัทแปลน พับลิชชิ่ง  จำกัด  กรุงเทพฯ  2535  ISBN  974-7020-31-9
3.  ธนู ชาติธนานนท์. งานจิตเวชชุมชนในประเทศไทย.ใน: ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย( พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.๒๕๓๖:๑๐๕๕-๖๖.
4.  กวี สุวรรณกิจ. จิตเวชชุมชน. ใน: ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๒) . กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พ.ศ.๒๕๓๖: ๑๐๔๘-๕๔.
5.  Dworkin PH. Learning and Behavior Problems of School children .Philadelphia. W.B. Saunders ,1985.
6.  Mattison RE. Consultation in the school environment. In : Child and Adolescent Mental Health Consultation in Hospitals, Schools, and Courts. Washington, DC. American Psychiatric Press, Inc.1993:95-183.
7.  กรมสุขภาพจิต.คู่มือครูสำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต. พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,..๒๕๔๒.
8.  กรมสุขภาพจิต.คู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน.พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,..๒๕๔๓.
9.  กรมสุขภาพจิต.คู่มือส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สำหรับครู พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต,..๒๕๔๒.
10.  สุจริต สุวรรณชีพ,วินัดดา ปิยะศิลป์,พนม เกตุมาน. คู่มือพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความรัก. พิมพ์ครั้งที่๓.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย,..๒๕๔๓.

ภาคผนวก
การเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้พฤติกรรมบำบัด
·        จัดสิ่งแวดล้อม ( environmental  manipulation)
·        ใช้สิ่งกระตุ้น ( cueing) 
·        เงื่อนไข (conditioning)
·        รางวัล (operant conditioning  or  positive  reinforcement)
·        เบี้ยอัตถกร  (Token)
·        แก้ไขด้วยการทำซ้ำ (overcorrection)
·        ดัดพฤติกรรม  (shaping)
·        แบบอย่าง  (modeling)
·          ใช้น้ำดีไล่น้ำเน่า (substitution)
·        ลงโทษ (punishment)
·        ถอนพฤติกรรม (negative reinforcement)  ลดการลงโทษ/ดุ/ด่า  ที่ไม่ได้ผล
หลักการลงโทษ
1        ไม่เสียความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2        หาข้อมูลให้ครบถ้วน  อย่าลงโทษผิดคน  ฟังเด็ก แจ้งข้อหาให้ชัดเจน
3        ลงโทษให้ถูกคน  อย่าลงโทษกลุ่มจากความผิดของคนๆเดียว 
4        ไม่อาย  เสียหน้า  เสียเกียรติหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ควรไล่ให้ไปพ้นๆ  ไปขายเต้าฮวย ฯลฯ
5        ไม่น่ากลัวเกินไป  ไม่ควรขู่  หรือขู่แล้วไม่ทำตามที่ขู่ 
6        ไม่รบกวนการเรียนรู้ปกติ  ไม่ควรไล่ออกจากห้อง 
7        ไม่เสียความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  เช่น  การด่าว่า เป็นสัตว์  ใช้คำพูดหยาบคาย
8        มีการตกลงกันไว้ก่อน  ว่าถ้ามีการทำความผิด  จะเกิดอะไรขึ้น
9        ทำด้วยความสงบ  ไม่ใช้อารมณ์
10   ไม่รุนแรงจนบาดเจ็บ  หรือมีความเสี่ยงต่ออันตราย
11   เปิดโอกาสให้เด็กคิด  ทบทวนตนเอง
12   จบแล้วจบกัน ไม่คิดแค้น  ไม่มีอคติต่อไป
13   มองเด็กในแง่ดี  คาดหวังดีต่อไป  เปิดโอกาสให้แก้ตัวใหม่เสมอ
ตัวอย่างการปรับพฤติกรรม  ที่อาจทดแทนการตี การตำหนิ  การประณามหรือประจาน
o       การขอเวลานอก
o       การออกกำลัง
o       การตัดคะแนน
o       การตัดรางวัล  งดกิจกรรมบางอย่าง
o       การบำเพ็ญประโยชน์
o       การกักบริเวณ
o       การจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเทคนิคการให้คำปรึกษา
การเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้การให้คำปรึกษา (Counseling)
          การให้คำปรึกษา  คือการช่วยเหลือให้คิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตนเองได้  ด้วยการใช้เทคนิคต่าง  ของการสร้างความสัมพันธ์  การสื่อสาร  ความเข้าใจและมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือ ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา  ประกอบด้วย
·        สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
·        สำรวจปัญหาร่วมกัน  และเลือกเรื่องที่จะทำงานร่วมกัน
·        ประคับประคองจิตใจให้อารมณ์สงบ
·        การแก้ปัญหา  กระตุ้นให้มองหาทางเลือก  ข้อดีข้อเสีย ชี้แนะ ช่องทาง ข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ
·        ให้ตัดสินใจด้วยตนเอง
·        การทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง  และติดตามผล
·        การยุติการช่วยเหลือ 

การเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้ครอบครัวบำบัด

·        สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว
·        แสวงหาข้อมูลจากครอบครัว
·        วิเคราะห์ครอบครัว  ปัญหาของครอบครัว  จุดอ่อน  จุดแข็ง  หน้าที่ของครอบครัว บทบาท  การสื่อสาร  การเข้าใจความรู้สึก 
·        ชักจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ในโครงสร้าง  และหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว
·        ชี้แนะช่องทางของการเปลี่ยนแปลง
·        ฝึกทักษะที่เป็นปัญหา
·        ใช้หลักพฤติกรรมบำบัด ร่วมด้วยเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 

การเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้เพื่อน

·        สร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันแบบกลุ่ม  ไม่โดดเดี่ยว  ไม่เอาตัวรอดคนเดียว  เพื่อนมีหน้าที่ช่วยเหลือกัน
·        สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เป็นห่วงเป็นใยกัน  เมื่อมีใครหายไปเพื่อนควรสนใจ  เป็นห่วงเป็นใย  ติดตามข่าวสาร  พยายามดึงเพื่อนเข้ากลุ่ม  มีการแบ่งปันกัน  ช่วยเหลือกัน
·        เมื่อมีเพื่อนทำผิด  เพื่อนที่ดีควรช่วยเตือน และชักจูงให้เปลี่ยนแปลง  เลิกทำผิด  กลับมาทำดี โดยไม่โกรธกัน  มองกันในทางที่ดี
·        ฝึกทักษะการสื่อสารที่ดี  บอกความคิด  ความต้องการ  ความรู้สึก  เมื่อไม่พอใจมีวิธีบอกให้เพื่อนเข้าใจ  และสนองความต้องการกันได้ตรงจุด 
·        ฝึกทักษะสังคมทางบวก  การให้  การรับ  การขอโทษ  การขอบคุณ  การเข้าคิว  รอคอย  การทำดีต่อกัน  การพูดดีๆ  สุภาพ  อ่อนโยน  ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อกัน   

การสื่อสารที่ดี

  1. หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  ทำไม” 
การใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  ทำไม.....  เช่น  ทำไมเธอมาโรงเรียนสาย  จะสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจได้ 2  แบบ คือ
    bullet เธอทำไม่ดีเลย  ทำไมจึงทำเช่นนั้น    และ
    bullet ถ้ามีเหตุผลดีๆ  การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้ 
ผลที่ตามมาคือ เด็กจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น  เพื่อพยายามยืนยันว่า  ความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง  เป็นการสอนให้เด็กเถียงแบบข้างๆคูๆ  แล้วครูก็จะโมโหเด็กเสียเอง  ทั้งๆที่เป็นคนเริ่มต้นให้เด็กหาเหตุผล  แต่เมื่อเด็กแสดงเหตุผล  ก็ไม่ยอมรับเหตุผลของเขา
ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริงๆของพฤติกรรมเด็ก  ควรถามดังนี้
ครูอยากรู้จริงๆว่าอะไรทำให้เธอทำอย่างนั้น
พอจะบอกครูได้ไหมว่า  เธอคิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น
เกิดอะไรขึ้น  ทำให้เธอมาโรงเรียนสายในวันนี้
มันเกิดอะไรขึ้น  ไหนลองเล่าให้ครูเข้าใจหน่อย

  1. ตำหนิที่พฤติกรรม  มากกว่า ตัวเด็ก  
ถ้าครูจะตำหนิเด็ก  ต้องระวังการต่อต้านไม่ยอมรับ  วิธีการที่ทำให้เด็กยอมรับ  และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง  สามารถทำได้ด้วยการตำหนิที่พฤติกรรมนั้น    ดีกว่าตำหนิที่ตัวเด็ก  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
การมาโรงเรียนสาย  เป็นสิ่งที่ไม่ดี     ดีกว่า     เธอนี่แย่มาก  ขี้เกียจจังเลยถึงมาสาย
การทำเช่นนั้น  ไม่ฉลาดเลย    ดีกว่า    เธอนี่โง่มากนะ  ที่ทำเช่นนั้น
ครูไม่ชอบที่เธอไม่ได้ช่วยงานกลุ่ม   งานนี้ทุกคนต้องช่วยกัน    ดีกว่า    เธอนี่เป็นคนเอาเปรียบเพื่อนนะ
          ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า  เป็นนิสัยไม่ดี  หรือสันดานไม่ดี  เพราะจะทำให้เด็กต่อต้าน  หรือแกล้งเป็นอย่างนั้นจริงๆ  หรือลามไปถึงพ่อแม่  เช่น  อย่างนี้พ่อแม่ไม่เคยสอน  ใช่ไหม 

  1. ฝึกใช้คำพูดที่ขึ้นต้น  ฉัน......   มากกว่า  เธอ.............  ( I-YOU  Message)   ได้แก่
ครูไม่ชอบการที่นักเรียนมาสาย      ดีกว่า  เธอนี่แย่มากที่มาสาย
ครูอยากให้นักเรียนมาเช้า
ครูไม่ชอบพูดเวลานักเรียนไม่ตั้งใจฟัง
ครูอยากให้นักเรียนหยุดฟัง  เวลาครูพูด
ครูเสียใจที่เธอทำเช่นนั้น
ครูอยากให้เธอ..................
ครูจะดีใจมากที่................

  1. บอกความคิด  ความรู้สึก  ความต้องการ 
ฝึกให้เด็กมีทักษะในการสื่อสาร  ความกล้าพูด  กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิด  รู้สึก  และต้องการอย่างสุภาพ  เข้าใจกัน  ทั้งต่อครู  และต่อเพื่อนๆด้วยกันเอง  ไม่ควรอาย  หรือกลัวเพื่อนโกรธ  บางคนกลัวเพื่อนไม่ยอมรับ  เลยยอมตามเพื่อน  ถูกเพื่อนเอาเปรียบ 
ครูช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้  ด้วยการฝึกรายบุคคล 
เธอคิดอย่างไร  เรื่องนี้............
เธอรู้สึกอย่างไร  ลองบอกครู...........
เธอต้องการให้เป็นอย่างไร...........
          ครูควรรับฟังเด็กมากๆ  ให้เขารู้สึกว่า  การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  และสามารถบอกกับเพื่อนๆได้ด้วย
 
  1. ชมบนหลังคา  ด่าที่ใต้ถุน
ครูควรมีเทคนิคในการชม  ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง   ควรชมให้ผู้อื่นทราบด้วย  หรือร่วมชื่นชมด้วย    และเมื่อชมแล้ว  อาจเสริมให้เด็กรู้สึกต่อไปว่า  เขาคงจะพอใจที่ตัวเองเป็นคนดีด้วย   ต่อไปเด็กจะชื่นชมตัวเองเป็น  ไม่ต้องรอให้คนอื่นเห็นความดีของตน  หรือรอให้คนอื่นชมเสมอไป  ดังตัวอย่างนี้
ครูดีใจมากที่เธอช่วยเหลือเพื่อน  เธอคงรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำเช่นนั้น  ใช่ไหม
พวกเราภูมิใจที่เธอได้รางวัลครั้งนี้  ช่วยกันตบเมือให้หน่อย  เธอคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ
แต่เวลาเตือน อย่าให้เกิดความอับอาย  ให้ค่อยๆคิด  และยอมรับด้วยตัวเอง  อย่าให้เสียความรู้สึก  ควรเตือนเป็นการส่วนตัว  ก่อนจะเตือน  ควรหาข้อดีของเขาบางอย่าง  ชมตรงจุดนั้นก่อน  แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น
ครูรู้ว่าเธอเป็นคนฉลาด  แต่การที่เธอเอาของเพื่อนไปโดยไม่บอกนี่ไม่ถูกต้อง
ครูเห็นแล้วว่าเธอมีความตั้งใจมาก  แต่งานนี้เป็นงานกลุ่มที่ต้องช่วยกันทำทุกคนนะจ๊ะ

  1. ถามความรู้สึก  สะท้อนความรู้สึก  เช่น
หนูคงเสียใจ  ที่คุณครูทำโทษ (สะท้อนความรู้สึก)
หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง  ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน (ถามความรู้สึก)
เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง  เมื่อถูกเพื่อนแกล้ง  (ถามความรู้สึก)
เธอคงโกรธที่ถูกเพื่อนแกล้ง  (สะท้อนความรู้สึก)
เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของหนูมาก  ครูจะคุยกันต่อได้ไหม (สะท้อนความรู้สึก)

  1. ถามความคิดและสะท้อนความคิด  เช่น
เมื่อเธอโกรธ  เธอคิดจะทำอย่างไรต่อไป  (ถามความคิด)
เมื่อเด็กตอบว่า  ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน  ควรพูดต่อไปว่า
เธอโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา  (สะท้อนความคิด)
การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิด  จะได้ประโยชน์มาก  เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า  เราเข้าใจ(ความคิด และความรู้สึก)ของเขา  ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เป็นพวกเดียวกัน  และจะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น  ชักจูงได้ง่ายขึ้น
 
  1. การกระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง
ในการฝึกให้เด็กคิดและแก้ปัญหานั้น  ควรฝึกให้เด็กคิดเองก่อนเสมอ  เมื่อเด็กคิดไม่ออก  ไม่รอบคอบ  ไม่กว้าง  ครูอาจช่วยชี้แนะให้ในตอนท้าย  เช่น 
เธอคิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน  (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)
แล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไปดี  (ให้คิดหาทางออก)
ทางออกแบบอื่นละ  มีวิธีการอื่นหรือไม่  (ให้หาทางเลือกอื่นๆ  ความเป็นไปได้อื่นๆ)
ทำแบบนี้  แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร  (ให้คิดถึงผลที่ตามมา)
เป็นไปได้ไหม  ถ้าจะทำแบบนี้....(แนะนำ).......เธอคิดอย่างไรบ้าง

หน่วยงานใดที่น่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น
          หน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชน ควรมีส่วนร่วมเสมอ  ในการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาขึ้น  โดยมีแนวทางดังนี้
bullet ปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงข้อมูล  ข่าวสาร  ทรัพยากร  เพื่อกระต้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็น  ได้ทดลอง  ได้เรียนรู้  ได้ฝึกฝนในสิ่งที่ตนเองสนใจ  และมีความถนัด
bullet ส่งเสริมการเรียนรู้  ด้วยการงดเว้นค่าบริการต่างๆ  เช่น  ค่ารถ  ค่าเรือ  ค่าผ่านประตูเข้าสวนสัตว์  พิพิธภัณฑ์ต่างๆ  สนามกีฬา  ห้องสมุด  รวมถึงการลดราคาให้แก่ผู้ใหญ่ที่พาเด็กเข้าไป  เป็นต้น  รัฐควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้
bulletส่งเสริมครู  และพี่เลี้ยงเยาวชน  ที่มีความสามารถพิเศษ  และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก  เช่นนักกีฬาทีมชาติ  ควรให้เป็นผู้สอนเยาวชนในกีฬาที่เด็กสนใจ 
bullet ส่งเสริมสนามกีฬา  ศูนย์เยาวชน  สวนสาธารณะ  สวนสัตว์  ให้เป็นที่เรียนรู้แก่เด็ก  โดยมีผู้ใหญ่ที่คอยดูแลให้เด็กได้เรียนรู้อย่างคุ้มค่า  
 

ส่งงาน blog 2

เที่ยวเกาะล้าน-พัทยา ทะเลสวย น้ำใส ใกล้กรุงเทพ

ผู้สนับสนุน


ถ้าพูดถึงพัทยาผมคิดว่าคงไปกันบ่อยแล้ว แต่วันนี้ผมจะพาข้ามฝั่งพัทยาไปยัง เกาะล้าน ห่างจากฝั่งพัทยาประมาณ 7 กิโลเมตร นั่งเรือก็ประมาณ 45 นาทีสำหรับเรือโดยสารขนาดใหญ่ หรือ 15 นาทีสำหรับเรือสปีดโบท คุณจะได้พบกับชาดหาดที่สะอาด ที่มีน้ำใส และยังเป็นแหล่งดูปะการังอีกด้วย ถ้าสนใจก็ตามผมมาเที่ยวกันเลยครับ
สำหรับทริปนี้จะขับรถไปเองหรือไปรถโดยสารก็สะดวกไปหมด วันนี้เราตื่นกันตั้งแต่ตี 5 ออกเดินทางแต่เช้ามืดเพื่อที่จะไปขึ้นเรือรอบ 8 โมง เราใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ ขับยาวไปถึงพัทยา ค่าผ่านทาง 30+30 ครับ ตอนนี้ถนนมอเตอร์เวย์สร้างเสร็จหมดแล้ว ขับสบายมาก แต่ยังไงก็อย่าใช้ความเร็วมากนะครับ
จากพัทยาเหนือไปพัทยาใต้ จะเห็นป้ายไปพัทยาใต้ให้เลี้ยวขวาเข้าไปเลย เสร็จแล้วก็เลี้ยวซ้ายที่ไฟแดงแรก ตรงไปเรื่อยๆจะข้ามสะพานไปโผล่ตรงท่าเรือแหลมบาลีฮาย (Balihai) ใครจะจอดรถตรงท่าเรือก็ได้เลยนะครับที่จอดฟรี แต่มีที่จอดไม่เยอะ แต่ถ้าเอาความสบายใจก็เลี้ยวขวาเข้าไปจอดตรงด้านในดีกว่า สังเกตตึกสีฟ้าๆ นี่แหล่ะครับที่จอดรถ ถ้าเลยตรงเข้าไปก็จะเป็น Walking Street ที่เที่ยวยามค่ำคืนของพัทยา เราเข้าไปกันเลยดีกว่า ค่าจอดชั่วคราว 40 บาท ค้างคืน 100 บาท ( อัพเดท ชั่วคราว 60 บาท ถ้าไปตอนสายๆ อาจต้องฝากกุญแจไว้ด้วย 6/4/10 ) ส่วนริมถนนรอบๆ เขาพระตำหนัก ก็พอจะจอดรถได้ครับ มีคนมาจอดค่อนข้างเยอะ

ซ้าย : ที่ฝากรถก่อนข้ามไปเกาะล้าน ขวา : เซเว่นที่แหลมบาลีฮายก่อนข้ามไปเกาะล้าน
ทริปเกาะล้านจะไปเช้าเย็นกลับหรือค้างบนเกาะก็ได้ หลังจากจอดรถแล้วก็เดินออกมา เดินไปทางซ้ายจะมีที่ขายอาหารทะเลอยู่ซ้ายมือ ถ้ากลัวว่าของบนเกาะจะแพงก็ซื้อจากตรงนี้ข้ามไปกินบนเกาะก็ได้ เซเว่นอีเลฟเวนก็มี แต่ถ้าไปกันแค่ 2 คนไปซื้อเอาบนเกาะก็ได้ครับ สะดวกดี สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการนั่งเรือจะกินยาแก้เมากันไว้ก่อนก็ดีเหมือนกัน

เมื่อจอดรถเสร็จแล้วก็เดินออกมาตรงนี้แหล่ะครับท่าเรือแหลมบาลีฮาย เดินเข้าไปด้านในเลย
ก่อนที่จะขึ้นเรือจะมีตู้ ATM ของธนาคารนครหลวงไทยทางซ้ายมือ แนะนำว่าให้เปิดกระเป๋าเช็คดูหน่อยว่าเงินพอไหม ถ้าไม่พอก็กดตรงนี้ได้เลย แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ บนเกาะล้านมีตู้ ATM ธ.กสิกรไทย อยู่ตู้เดียวที่หน้าเซเว่น ท่าเรือหน้าบ้าน แต่คิดเผื่อไว้ว่าตู้ ATM ก็มีโอกาสเสียหรือเงินหมดได้เหมือนกัน

ซ้าย : ทางเดินไปขึ้นเรือ กลาง : เรือโดยสารข้ามไปเกาะล้าน ขวา : ตู้ ATM ธนาคารนครหลวงไทย
สำหรับค่าโดยสารก็ไปจ่ายกันก่อนขึ้นเรือ คนละ 20 บาทเท่านั้น ( ปัจจุบันค่าเรือขึ้นเป็น 30 บาท  6/4/10 ) เป็นเรือลำใหญ่ 2 ชั้น นั่งได้เป็น 100 คน มีเสื้อชูชีพอยู่ด้านบนของเรือ ชั้นล่างของเรือไม่เห็นว่ามีเสื้อชูชีพ สำหรับคนที่ใจร้อนก็มีสปีทโบ๊ท (Speed Boat) บริการไปเกาะล้านคนละ 150 บาท ซึ่งขับค่อนข้างเร็ว ไม่แนะนำครับ แต่ถ้ารีบก็ใช้บริการสปีทโบ๊ทกันได้

เรือรอบแรกออกเวลา 7.00 น. ท่าเรือใหญ่บนเกาะล้านจะมีอยู่ 2 ท่าคือท่าเรือหน้าบ้าน กับท่าเรือหาดตาแหวน เรือจะไปจอดสลับกันไประหว่างหาดตาแหวนกับท่าเรือหน้าบ้าน แต่ 2 ท่านี้ก็ไม่ไกลกันเท่าไหร่

เมื่อถึงเวลาแล้วเรือก็ออก เราจะเห็นป้าย Pattaya City อยู่บนภูเขา สังเกตว่าฝรั่งมาเที่ยวเกาะล้านเยอะเหมือนกัน เกือบจะถึงเกาะล้านจะเห็นเกาะครกกับเกาะสาก เข้าใจตั้งชื่อจัง และแล้วเราก็มาถึงเกาะล้านแล้ว เรือเทียบท่าที่หาดตาแหวน ใครที่สนใจเช่ามอเตอร์ไซค์ขับเที่ยวรอบเกาะก็เช่าตรงนี้เลยก็ได้ครับ ราคา 250-300 บาทต่อวัน ถ้าเจอราคาแพงกว่านี้ลองดูเจ้าอื่นนะครับ 400-500 ให้ Say no อย่างเดียว มีให้เช่าทั้งแบบเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา แนะนำนิดนึงว่าถ้าค้างคืนบนเกาะล้านที่พักเกือบทุกที่จะมีมอเตอร์ไซค์ให้ เช่า เช่ากับทางรีสอร์ทจะต่อรองได้มากกว่าครับ หรือบางที่แถมมอเตอร์ไซค์ให้ขับฟรีๆเลย

สำหรับใครที่ไปเช้าเย็นกลับเหมือนผมแล้วมีของพะรุงพะรัง ในร้านใหญ่ๆแทบทุกร้านจะมีล็อกเกอร์ให้เช่า 50 บาท เอาของไปฝากแล้วไปเที่ยวรอบเกาะ ก็สะดวกดีครับ

หาดตาแหวน

ผมประเดิมมื้อแรกของวันนี้ด้วยก๋วยเตี๋ยวหมูที่หาดตาแหวน รสชาติอร่อยใช้ได้เลยละ ชามละ 30 บาท ก็สมน้ำสมเนื้อดี แล้วก็เดินถ่ายรูปไปเรื่อยๆ หาดตาแหวนจะยาว และมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด ของกินก็มีให้เลือกกินมากมาย แต่แนะนำว่าให้ถามราคาก่อนซื้อดีกว่านะครับ ดูรูปกันไปพลางๆก่อนครับ

ห่วงยางสีสดใสที่เกาะล้าน

เกาะล้าน น้ำใสจริงๆนะ ไม่เชื่อลองดูซิ

สำหรับใครที่จะอาบแดดก็ใช้บริการเตียงผ้าใบด้านหน้าเลย ส่วนมากจะเห็นแต่ฝรั่งชอบมาอาบแดดกัน สำหรับคนไทยชอบนอนในร่มมากกว่า


จากหาดตาแหวนสามารถเดินไปหาดสังวาลย์ได้ หาดสังวาลย์จะสั้นประมาณ 150 เมตรและเงียบมาก ถ้าชอบเล่นน้ำผมว่ามาหาดตาแหวนดีกว่า จากหาดตาแหวนเห็นมีเส้นทางไปหาดทองหลางอยู่ แต่พอเดินไปทางขาดซะงั้น เหมือนเจอคลื่นแรงๆซัด ทางเดินเลยขาด

หาดสังวาลย์


ระหว่างทางไปหาดสังวาลย์มีสะพานไม้ยื่นไปในทะเล เห็นแล้วสวยดีแวะถ่ายรูปซะหน่อย

มุมเงียบๆ ส่วนตัว ที่หาดสังวาลย์
หลังจากสอบถามราคาวินมอเตอร์ไซค์ เราเลยตัดสินใจว่าเช่ามอเตอร์ไซค์ขับเล่นเที่ยวรอบเกาะดีกว่า พื้นที่บนเกาะประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรขับมอเตอร์ไซค์ซักครึ่งวันก็ไปได้รอบเกาะแล้วครับ ถนนบนเกาะล้านเป็นทางปูด้วยอิฐตัวหนอนตลอดทาง ขับได้สบายไม่อันตราย จะมีเนินบ้าง โค้งหักศอกก็มีนานๆที ขับช้าๆ ครับค่อยๆไป ขึ้น-ลงเขาใช้เกียร์ต่ำ รับรองปลอดภัย สำหรับคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็นจะใช้บริการพี่วินหรือสองแถวก็ได้ครับ ราคาพอๆกัน

เคยอ่านเจอมาว่าที่ทำถนนด้วยอิฐตัวหนอนเพราะง่ายกับการซ่อมแซม

หาดนวล


อันนี้หาดนวลครับ อยู่ทางใต้ของเกาะล้าน ยาวประมาณ 250 เมตร หาดนี้มีปะการังด้วยครับ ที่นี่ชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยเสียอีก ฝรั่งชอบมาอาบแดดที่หาดนี้ คนไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เคยอ่านเจอมาว่าหาดนี้เป็นของเอกชน

เรือสปีทโบ๊ท สามารถเช่าเหมาลำไปดำน้ำตามจุดต่างๆรอบเกาะล้าน หรือไปชมเกาะครก เกาะสาก

จุดชมวิวบนเขาหน้ายักษ์ระหว่างทางไปหาดนวล
ที่จุดชมวิวเราจอดรถมอเตอร์ไซค์เพื่อไปถ่ายรูปวิว มีกลุ่มวัยรุ่นมากันหลายคนได้ มีผู้หญิงคนนึงครับ กระโดดกลางอากาศแล้วให้เพื่อนถ่ายรูปให้ แล้วก็ฮาตรงที่ว่ารองเท้ากระเด็นกระดอน ตกเขากลิ้งไปหลายเมตร เรียกเสียงหัวเราะได้จากคนแถวนั้นได้อย่างดี แต่ยังดีที่ว่ามีเพื่อนผู้ชาย เกาะต้นไม้ลงเขาไปเก็บมาให้ ถ้าจะกระโดดถ่ายรูปตรงนี้ก็ระวังกันหน่อยนะครับ

หาดแสม

จากหาดนวลเราก็ไปหาดแสม (อ่านว่า Samae นะ) หาดยาวประมาณ 700 เมตร ที่หาดนี้เป็นสถานที่ตั้งของอาคารปลากระเบน สำหรับควบคุมการผลิตไฟฟ้าด้วยโซล่าเซลล์และ กังหันลม สองข้างทางจะเป็นป่า มีชุมชนบ้าง ระหว่างทางเจอที่พักหลายที่เลย สไตล์ที่พักบนเกาะล้านเหมือนอพาตเมนต์หรือหอพัก ประมาณนั้น สร้างกันง่ายๆ ไม่มีตึกสูงๆ ไม่มีบริเวณหรือสระว่ายน้ำ ถ้าใครกินง่ายนอนง่าย ก็มาขี่มอเตอร์ไซค์หาที่พักเองก็ได้ยังไงก็มี หรือถ้าไม่ถูกใจจะกลับไปพักฝั่งพัทยาก็ได้


หาดแสมจะมีเครื่องเล่นด้วย แต่ไม่ได้ให้เล่นฟรีนะ รู้สึกว่า 150 บาท เลยไม่ค่อยมีคนเล่นเท่าไหร่นัก เท่าที่ทราบเจ้าเครื่องเล่นนี้ไม่ได้ประจำที่หาดใดหาดหนึ่งอาจจะย้ายไปหาดตา แหวนหรือหาดอื่นก็ได้ หาดนี้เป็นที่นิยมของฝรั่งเหมือนกัน นอนอาบแดดกันเต็มเลย

สำหรับหาดสุดท้ายที่เราจะพาไปชมกันคือหาดเทียน ขี่มอเตอร์ไซค์จากหาดแสมไปเพียง 5 นาทีเท่านั้น อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ หาดนี้ก็สะอาดน้ำทะเลสีฟ้า-เขียว สวยมาก ยาวประมาณ 500 เมตร แต่ความรู้สึกว่าน้ำไม่ใสเหมือนหาดอื่น

หาดเทียน


หาดเทียนคนค่อนข้างน้อยเหมือนเป็นหาดส่วนตัวเลย รูปด้านล่างฝรั่งกำลังถ่ายรูปลูกเค้าที่กำลังจะเล่นบานาน่าโบ๊ทอยู่ ดูท่าทางน่าสนุก

ขาออกจากหาดเทียนแวะจุดชมวิวถ่ายรูปซะหน่อย
สำหรับทริปนี้เราพลาดไป 1 หาด คือหาดตายาย เท่าที่หาข้อมูลมา เป็นหาดส่วนตัว น้ำใสมากเช่นกัน มีหินกรวดเล็กๆ ที่หาด ถ้ามีโอกาสได้ไปอีกครั้งจะเอารูปหาดตายาย มาฝากครับ

จากนั้นเราก็ไปเตร็ดเตร่กันต่อที่ท่าเรือหน้าบ้าน ท่าเรือหน้าบ้านจะมีลักษณะเป็นชุมชม มีที่พักเยอะมาก แต่ที่ท่าหน้าบ้านเล่นน้ำไม่ได้นะ ไม่มีหาด เป็นเลนแต่น้ำก็ใสอยู่เหมือนกัน ถ้าใครชอบความสงบเงียบ คงไม่เหมาะซักเท่าไหร่ รีสอร์ทจะอยู่ติดๆกันลักษณะเป็นชุมชน แต่ข้อดีของที่นี่คือหาของกินง่าย ราคาไม่แพง แถมยังมีเซเว่นอีเลฟเว่นและตู้ ATM อีกด้วย

ชุมชนท่าเรือหน้าบ้าน


อ้อ… มีเรื่องประทับใจเล็กๆน้อยๆ บนเกาะล้านมาเล่าให้ฟังด้วยครับ ก่อนจะขึ้นเรือผมไปเดินหายาแก้เมาเรือ เดินเข้าไปถามในเซเว่นว่ามียาแก้เมาเรือไหม
ผม : มียาแก้เมาเรือไหมครับ สาวเซเว่น : ไม่มีคะ พี่จะเอากี่เม็ดละ
ผม : 1 เม็ดครับ (คิดในในว่า เจอกวนซะแล้ว ไม่มีขายแล้วจะถามทำไม)
สาวเซเว่น : หยิบยาแก้เมาของเค้ามาให้ ผมจะขอซื้อเค้าก็ไม่เอาเงิน
ผมอยากจะขอบคุณในน้ำใจเล็กๆ น้อยๆที่หยิบยื่นให้ นี่แหล่ะครับที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเที่ยวอีก ถ้าสาวเซเว่นคนนั้นมาอ่านผมอยากจะบอกว่า ผมประทับใจมากครับ
เราเอามอเตอร์ไซค์เช่าไปจอดคืนไว้หน้าเซเว่น เค้าบอกให้เราเสียบกุญแจค้างไว้อย่างงั้นแหล่ะ ไม่หาย ก็เลยโทรบอกพี่เค้าหน่อยว่าเราเอารถมาคืนแล้วนะ เรากลับเรือรอบบ่าย 2 ลักษณะเรือก็เหมือนกันกับขาไป เป็นเรือ 2 ชั้น ถ้าอยากดูวิวสวยๆ ก็เลือกนั่งชั้น 2 เลย จ่ายค่าเรือกันตรงหน้าเรือแหล่ะครับ ไม่ต้องซื้อตั๋ว
อัพเดทเพิ่มเติม หาดตายาย ไปมา 4/4/10
เนื่องจากต้องการให้เป็นข้อมูลเกาะล้านที่ครบถ้วน ละเอียดที่สุดเลยไปเกาะล้านอีกรอบ ไปที่หาดตายาย จากท่าหน้าบ้านเลี้ยวไปทางขวามือ ดูป้ายไปสนามยิงปืน หาดตายายจะอยู่เลยสนามยิงปืนไปอีกหน่อยครับ ขี่มอเตอร์ไซค์จากท่าหน้าบ้านไปประมาณ 15-20 นาที ไปง่ายๆ ไม่ต้องขึ้นลงเข้าครับ ทางดี

หาดตายาย

หาดตายาย เป็นหาดที่สั้นๆ มีทรายขาว น้ำใส และโขดหินสวยๆ หาดนี้เหมาะกับคนที่ชอบความสงบ ก่อนเข้าหาดจะเขียนไว้เลยห้ามส่งเสียงดัง หาดนี้มีร้านค้าอยู่ที่หาด 1 ร้านครับ มีห่วงยางและเตียงผ้าใบให้เช่า

ถ้าไม่นั่งเตียงผ้าใบจะหลบมานั่งบนก้อนหินใต้ต้นไม้ก็ได้ครับ

ฝรั่งก็มาเล่นน้ำที่หาดนี้เหมือนกัน

น้ำใสมากๆ ถ้าถามความเห็น หาดไหนในเกาะล้านสวยสุด ผมโหวตให้หาดตายายครับ

ร้านอาหารและเตียงผ้าใบที่หาดตายาย เงียบมาก แทบจะไม่มีคนเลย
ข้อมูลเพิ่มเติม สถานธรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเกาะล้าน
นอกจากทะเลสวยๆแล้ว เกาะล้านยังมีสถานปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่บนยอดเขา น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบ หรือจะมาชมวิวหาดตาแหวนจากมุมสูงก็ได้ครับ
การเดินทาง จากหาดตาแหวนให้สังเกตุร้านหมูกะทะทางขวามือ ตรงข้ามร้านหมูกะทะเป็นทางบันไดลงหาดตาแหวน พอถึงร้านหมูกะทะก็ชิดขวาเลยครับ จะเห็นป้ายสถานปฏิบัติธรรม เลี้ยวขวาได้เลย ทางจะเป็นถนนทางลูกรัง 2 ข้างทางเปลี่ยวนิดหน่อย แนะนำให้ไปช่วงกลางวันครับ

จากนั้นจะเจอองค์เทพสีดำ (ไม่แน่ใจว่าเรียกชื่อถูกเปล่า) ขี่รถขึ้นไปอีกจะเจอ และองค์พระฤาษี  ให้จอดรถแล้วเดินขึ้นบันไดต่อไปด้านบน (ประมาณ 200 ขั้น) จะเป็นที่ตั้งของสถานปฏิบัติธรรม

รูปปั้นพระสังกัจจายน์ แกะสลักจากหินตรงนั้น

รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม จากรูปปั้นฤาษีเดินไปทางขวาเรื่อยๆครับจะเจอกับเจ้าแม่กวนอิม
ขอบคุณรูปภาพเพิ่มเติมจากพี่ป๊อป poprc100
สรุป ถ้าคุณต้องการไปเที่ยวทะเลสวย น้ำใส ใกล้ๆกรุงเทพฯ ผมคิดว่าเกาะล้านน้ำ ใส สะอาดที่สุดแล้ว น่าจะสวยกว่าเกาะเสม็ด หัวหิน ที่ผมเคยไปซะอีก มีกิจกรรมลากร่มชูชีพ ขับเจ๊ทสกี เล่นบานาน่าโ๊บท ดำน้ำดูปะการัง หรือจะเหมาเรือไปเที่ยวเกาะครก เกาะสากก็ได้ เที่ยวได้ในงบประมาณที่ไม่แพง แต่ถ้าต้องการหาที่พักหรูๆ บนเกาะล้านคงไม่ค่อยมี การเดินทางก็สะดวกสบายมาก เที่ยวทะเลปีนี้ลองไปเกาะล้านดูนะครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง

ร้านอาหารบนเกาะล้าน

  • ครัวพวงพยอม ร้านติดทะเล โซนท่าหน้าบ้าน บรรยากาศโรแมนติค รสชาติดีแต่รอนาน แนะนำว่าควรจองล่วงหน้าก่อนไม่งั้นเต็ม เดิมร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเฉลียงลม แต่ปัจจุบันแยกออกมาแล้ว
  • ครัวชลิตา อาหารอร่อย ทำเร็ว ใกล้ท่าหน้าบ้าน ถ้าพักที่บ้านชลิตามีส่วนลดให้ 10%
  • ร้านเจ๊จุ๋ม อยู่หน้าวัด โซนท่าหน้าบ้าน ขายอาหารตามสั่ง ราคาไม่แพง
คำแนะนำ ร้านอาหารบนเกาะล้านบางร้าน ราคาค่อนข้างแพง สอบถามราคาอาหารก่อนสั่งนะครับ
การเดินทางมาเกาะล้าน
  • โดยรถโดยสารประจำทาง ขึ้นได้ที่สถานีขนส่งหมอชิตหรือเอกมัย ไปลงที่พัทยา แล้วต่อสองแถวไปแหลมบาลีฮาย ค่ารถจากหมอชิต 121 บาท จากเอกมัย 113 บาท รถออกทุกครึ่งชั่วโมงตั้งแต่เวลา 5.00 - 21.00 น.
  • โดยรถตู้ ขึ้นได้ที่อนุสาวรีชัยฯ หน้าโรงหนังเซ็นจูรี่ มาถึงท่าเรือ แหลมบาลีฮายเลย คนละ 150 บาท รถออกตั้งแต่เวลา 6.00 - 20.00 น.
  • โดยรถส่วนตัว มาเส้นทางมอเตอร์เวย์ค่าผ่านทาง 30+30 บาท ทางดีมาก หรือถนนสุขุมวิท ไปออกที่พัทยาใช้ถนนสุขุมวิทผ่านพัทยาเหนือ-พัทยากลาง-พัทยาใต้ ให้เลี้ยวขวาไปเกาะล้านที่พัทยาใต้ (ที่พัทยากลางจะมีป้ายบอกเลี้ยวขวาไปเกาะล้าน ไม่ต้องเลี้ยวนะครับ) จะเห็นบิ๊กซี จากนั้นตรงไปอีกแปปนึงให้เลี้ยวซ้ายไฟแดงแรก ตรงไปอย่างเดียวข้ามสะพาน พอลงมาจะเจอท่าเรือให้เลี้ยวขวาแล้วหาที่จอดรถได้เลย